ลักษณะการเขียนและการสื่อความหมายของภาพ ของ ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส

"ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส" เป็นงานจิตรกรรมสำคัญชุดแรกที่รือเบินส์ผู้ขณะนั้นมีชื่อเสียงพอตัวในยุโรปแล้วได้รับจ้างให้เขียน ที่จงใจจะให้เป็นภาพแสดงพระราชประวัติของพระราชินีมารีซึ่งเป็นหัวข้อที่เขียนไม่ได้ง่ายนัก เพราะพระราชประวัติของพระราชินีมารีก็ไม่อาจจะเทียบได้กับพระราชประวัติของพระราชสวามีตรงที่ทรงเป็นสตรีในยุคที่สตรียังไม่ค่อยมีบทบาททางการเมืองเท่าใดนัก แต่กระนั้นรือเบินส์ก็สามารถใช้ความรู้ ความสามารถเกี่ยวกับตำนานเทพเจ้ากรีก/โรมันมาใช้เป็นอุปมานิทัศน์ ซึ่งเป็น เทคนิคการเขียนภาพแบบบาโรกแนวหนึ่งมาเป็นเครื่องมือในการสื่อความหมาย และ สร้างความเป็นวีรสตรีให้แก่พระราชินีมารีและความมีพลานุภาพทางด้านความหมายให้แก่ภาพชุดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้นในช่วงที่เขียนภาพชุดนี้ ฝรั่งเศสอยู่ในสมัยของความไม่สงบทางการเมืองโดยทั่วไป โดยเฉพาะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างพระราชินีมารีผู้เป็นแบบหลักของภาพกับพระราชโอรสผู้เป็นพระมหากษัตริย์ รือเบินส์จึงอยู่ในฐานะที่ค่อนข้างลำบากที่ต้องพยายามสนองพระราชประสงค์ของพระราชินีมารี ขณะเดียวกันกับที่ต้องพยายามเลี่ยงการเขียนภาพที่อาจจะเป็นการแสดงความหมิ่นพระบรมราชานุภาพของสถาบันพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสในขณะนั้นด้วย รือเบินส์จึงหันไปใช้อุปมานิทัศน์จากตำนานเทพ, บุคลาธิษฐานของคุณธรรมและศาสนา และอุปมัยทางศาสนาในการสร้างเสริมพลังให้แก่ภาพ หรือบางครั้งในการพรางเหตุการณ์ที่ตามความเป็นจริงแล้วเป็นเหตุการณ์ที่ค่อนข้างเป็นพื้น, กำกวม และ หลีกเลี่ยงสิ่งใดที่แสดงความเป็นวีรสตรีของพระราชินีมารีจนออกนอกหน้า แนวการแสดง "ความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์" โดยวิธีที่ว่านี้ของรือเบินส์จึงเป็นวิธี "เลือกสรรการแสดงความเป็นจริง" โดยการใช้ "อภิสิทธิ์ของศิลปิน" ในการตีความหมายและสื่อความหมายของเหตุการณ์ การเสริมหรือการบิดเบือนความเป็นจริงของภาพชุดนี้อาจจะไม่ถูกต้องตามหลักการของการเสนอข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ แต่รือเบินส์ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์หรือถ้าในสมัยปัจจุบันก็จะเรียกว่าไม่ใช่ "นักข่าว" ผู้ที่จะต้องมีหน้าที่หรือความรับผิดชอบในการพยายามเสนอความเป็นจริงที่เป็นกลาง "ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส" จึงไม่ใช่การรายงานข่าวหรือการบันทึกประวัติศาสตร์ แต่เป็นงาน "แปรความเป็นจริงเชิงอรรถรส" (poetic transformation) โดยใช้อภิสิทธิ์ของศิลปิน[30]